การทำงาน ของ เมียวะดีมี่นจี้ อู้ซะ

ศิลปิน

งานชิ้นแรกๆ ที่อู้ซะได้รับผิดชอบในฐานะมหาดเล็กคือการบันทึกเรื่องราวของนัตหลวงทั้ง 37 ตน พร้อมทั้งธรรมเนียมการบูชา กระบวนท่าร่ายรำ และดนตรีประกอบพิธีกรรมของนัตหลวงแต่ละตน โดยได้รับความช่วยเหลือจากครูดนตรีชื่ออู้ตะโยะและเมียะตะ (Myat Tha) จนสำเร็จภารกิจ[2] ในปี ค.ศ. 1789 อู้ซะในวัย 23 ปี ได้มีชื่อร่วมอยู่ในคณะกรรมการอันประกอบไปด้วยเจ้านายและขุนนางต่างๆ ทำหน้าที่แปลบทละครของสยามและชวาจากภาษาไทยให้เป็นภาษาพม่า (ศิลปินและนักดนตรีหลวงของสยามซึ่งตกเป็นเชลยมาตั้งแต่ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ได้ทำการแสดงหน้าพระที่นั่งของพระเจ้าแผ่นดินพม่าในปี ค.ศ. 1776 และได้มีการถ่ายทอดความรู้ให้แก่นาฏศิลปินฝ่ายพม่าอยู่ก่อนแล้ว)[5] อาศัยความช่วยเหลือจากฝ่ายศิลปินชาวสยาม คณะกรรมการจึงได้เลือกแปลและดัดแปลงบทละครชั้นมหากาพย์ของสยาม 2 เรื่อง ได้แก่ เรื่องรามเกียรติ์ หรือมหากาพย์รามายณะฉบับภาษาไทย และเรื่องอิเหนา ซึ่งเป็นนิทานปันหยีของชาวชวาฉบับสยาม โดยแปลเป็นบทละครภาษาพม่าในชื่อ "ยามะซะตอ" และ "เอนองซะตอ" สำหรับเรื่องเอนองซะตอนั้น อู้ซะเป็นผู้ถ่ายทอดบทเจรจา แต่งบทร้อง ประพันธ์และเรียบเรียงดนตรี และกำกับรูปแบบการแสดง[6] อนึ่ง เขายังได้ปรับปรุงพิณซองเกาะของเดิมซึ่งมี 7 สาย ให้เป็นพิณ 13 สายอีกด้วย

อู้ซะได้ประพันธ์เพลงพม่าดั้งเดิมไว้มากกว่า 40 เพลงในแนวทาง thachin-gans, kyos, bwes และ patpyos[7] เขายังได้ทดลองประพันธ์เพลงในแนวอื่นๆ จากอิทธิพลจากดนตรีของชาวมอญและชาวสยาม โดยเขาแต่งเพลงทาง "โยดะยา" (คำเรียกชาวอยุธยาในภาษาพม่า) ไว้หลายเพลง เช่น เพลง "htat-tunts" ("เพลงโทน" หรือ "ทบทวน"), "ngu-ngits" ("งุหงิด"), "khameins" ("เขมร"), "frantins" ("ฝรั่งเต้น"), "keet-muns" ("แขกมอญ "), "htanauks" ("ท่านอก" หรือ "ตะนาว"), ale-mes, "phyinchars" ("เพลงช้า"), "bayet-le-swes", และ "phyin-chins" ("เพลงฉิ่ง") เพลงเหล่านี้ส่วนหนึ่งใช้สำหรับบรรเลงด้วยขลุ่ย อีกส่วนหนึ่งสำหรับบรรเลงด้วยฆ้องวง เขายังได้แต่งเพลงทางมอญขึ้นไว้ด้วยอีก 3 เพลง ในปี ค.ศ. 1820 อู้ซะได้กลับมาทำงานรวบรวมบันทึกเกี่ยวกับนัตหลวง 37 ตนอีกครั้ง โดยได้รับความร่วมมือจากร่างทรงนัตชื่อ กวีเทวะจ่อ (Kawi Deva Kyaw) และผู้บันทึกพงศาวดารชื่ออู้นุ (U Nu) ในปีเดียวกันนั้นเองเขายังได้ทดลองการเล่นหุ่นละครชัก โดยมีตะเบงหวุ่น (Thabin Wun) ผู้รักษาศิลปภัณฑ์สำหรับนาฏศิลป์ เป็นผู้ให้คำปรึกษา[2]

หลังสิ้นสงครามอังกฤษ–พม่าครั้งที่หนึ่ง อู้ซะยังคงประพันธ์บทละคร แต่ใช้เวลาเน้นไปทางภาคดนตรีมากขึ้น เขาได้รวบรวมบทเพลงจากแหล่งต่างๆ ทั้งของชาวสยาม ชาวพม่า ชาวมอญ และรวมรวมข้อมูลจากทุกระดับชั้นในสังคม ตั้งแต่บทเพลงในราชสำนัก เพลงในพิธีกรรมบูชานัต เพลงในงานเทศกาล ตลอดจนถึงเพลงพื้นบ้าน เขายังทดลองการผสมผสานดนตรีต่างๆ ภายในประเทศเข้าไว้ด้วยกันต่อไป[8] ทั้งยังได้พยายามเรียนรู้บทเพลงภาษาฮินดีและเพลงสวดในภาษาละตินด้วยตนเองจากความสนใจใฝ่รู้อีกด้วย[4]

ราชการทหาร

ในปี ค.ศ. 1808 อู้ซะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาลักษณ์และผู้บัญชาการเรีอรบ "ปเยลอนยู" (Pye Lon Yu) และต่อมาได้เป็น "อะเติงหวุ่น" (atwinwun) หรือราชเลขานุการ ในพระองค์พระมหาอุปราชบะจี้ดอ ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1814 นายกองอู้ซะในราชทินนาม "เนเมียวชัยสุระ" (Ne Myo Zeya Thura) ได้นำกำลังทหารราบพม่า 1,500 นาย พร้อมทหารม้า 150 นาย ไปยังเมืองมณีปุระ เพื่อตั้งเจ้าชายมารชิต สิงห์ ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งมณีปุระ ต่อมาเมื่อพระมหาอุปราชบะจี้ดอขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินพม่าพระองค์ใหม่ อู้ซะจึงมีฐานะเป็นราชเลขานุการในพระองค์ของพระเจ้าแผ่นดินด้วยวัย 53 ปี

เมื่อสงครามกับจักรวรรดิบริเตนปะทุขึ้นในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1824 อู้ซะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพภายใต้การบัญชาของแม่ทัพใหญ่มหาพันธุละ โดยประจำการในยุทธบริเวณอาระกัน อู้ซะได้นำกำลังพลประมาณ 4,000 นายในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1824[9] บุกเข้าไปในแคว้นเบงกอล และเอาชนะกองทหารบริเตนได้ในการรบที่รามู ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองค็อกซ์บาซาร์ (Cox's Bazar) ไปทางตะวันออกราว 10 ไมล์ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1824[10] จากนั้นเขาจึงเคลื่อนพลไปสมทบกับกองกำลังของมหาพันธุละเพื่อเดินทางไปปราบกองทหารบริเตนที่กอดาวพาลิน (Gadawpalin) และเข้ายึดครองเมืองค็อกซ์บาซาร์[2] ความสำเร็จของอู้ซะได้สร้างความแตกตื่นอย่างหนักในเมืองจิตตะกองและที่เมืองกัลกัตตา แต่มหาพันธุละได้สั่งให้อู้ซะหยุดการรุกคืบไปไกลมากกว่านี้เสียหลังจากไตร่ตรองสถานการณ์อย่างรอบคอบแล้ว[11]

แม่ทัพอู้ซะได้รับมอบหมายให้ควบคุมกำลังทหารพม่าที่อยู่ในเขตอาระกัน หลังจากที่มหาพันธุละและกองทัพหลักถูกเรียกตัวกลับโดยพระบรมราชโองการของพระเจ้าจักกายแมงเพื่อรับมือกับกองทัพบริเตนซึ่งยกพลขึ้นบกที่เมืองย่างกุ้งในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1824 เขารั้งทัพอยู่ที่อาระกันตลอดปี ค.ศ. 1824 ในขณะที่สมรภูมิหลักได้เปลี่ยนไปอยู่ที่ย่างกุ้งแทน หลังจากนายพลเอกเซอร์ อาร์ชิบัลด์ แคมป์เบล (Sir Archibald Campbell) สามารถเอาชนะมหาพันธุละในการรบที่ย่างกุ้งได้สำเร็จในเดือนธันวาคมของปีนั้น ฝ่ายบริเตนจึงหันเหความสนใจมาที่อาระกันเป็นเป้าหมายต่อไป ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1825 กำลังทหารฝ่ายบริเตนจำนวน 11,000 นาย พร้อมด้วยการสนับสนุนจากกองเรือปืนและเรือลาดตระเวนติดอาวุธตามแนวชายฝั่ง และกองพันทหารม้าภายใต้การบัญชาของนายพลจัตวาโจเซฟท์ วันตัน มอร์ริสัน (Joseph Wanton Morrison) ได้ระดมกำลังเข้าโจมตีที่มั่นของกองทัพพม่าในอาระกัน ถึงแม้ฝ่ายบริเตนจะมีจำนวนกำลังพลและอาวุธที่เหนือกว่า แต่พวกเขาก็ต้องรับมือกับกองทัพของอู้ซะที่อยู่ในสภาพร่อยหรอนานถึงเกือบสองเดือนกว่าจะบุกเข้าไปถึงที่มั่นหลักของฝ่ายพม่าที่เมืองมเยาะอู้ เมืองเอกของเขตอาระกัน ฝ่ายอังกฤษได้เปิดฉากบุกเมืองมเยาะอู้ในวันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 1825 (ในขณะเดียวกันเซอร์ อาร์ชิบัลด์ แคมป์เบลก็ได้เคลื่อนทัพเข้าโจมตีที่มั่นของมหาพันธุละในการรบที่ธนุพยู) เพียงไม่กี่วันหลังจากนั้น เมืองมเยาะอู้ก็ถูกตีแตกในวันที่ 1 เมษายน ซึ่งตรงกับวันที่มหาพันธุละพ่ายแพ้และเสียชีวิตที่ธนุพยู (Danubyu) โดยบังเอิญ อู้ซะและกองทหารพม่าที่เหลืออยู่จำต้องถอยร่นและปล่อยให้ฝ่ายบริเตนเข้ายึดครองอาระกัน[9] เขาได้ประจักษ์ถึงพลานุภาพในการทำลายล้างและวินัยอันเข้มแข็งของกองทัพบริเตนด้วยตาตนเองในสงครามครั้งนี้[4]

รัฐบุรุษ

หลังสิ้นสงคราม อู้ซะยังคงอยู่ในฐานะที่ปรึกษาผู้ใกล้ชิดของพระเจ้าจักกายแมง ในปี ค.ศ. 1828 พระองค์ได้แต่งตั้งให้อู้ซะเป็นเสนาบดีทหารบก และพระราชทานเมืองเมียวดีเป็นรางวัล เมืองส่วยที่อู้ซะได้รับพระราชทานนี้ครอบคลุมพื้นที่ที่แม่น้ำต่างๆ ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำอิรวดี ประกอบด้วยเมือง 1 เมือง และหมู่บ้าน 14 หมู่บ้าน ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคมะกเวปัจจุบัน ในฐานะเมียวะดีมี่นจี้ (เจ้าเมืองเมียวดี) พร้อมด้วยราชทินนาม "สิริมหาชัยสุระ" (Thiri Maha Zeya Thura) อู้ซะได้เป็นผู้นำคณะทูตพม่าในการเจรจากับพันตรีเฮนรี เบอร์นี ผู้แทนทางการทูตของฝ่ายบริเตนประจำราชสำนักอังวะ เขาล้มเหลวในการเจรจาขอเขตอาระกันและเขตตะนาวศรีคืนมาจากฝ่ายบริเตน แต่ยังคงประสบความสำเร็จในการทำให้ฝ่ายบริเตนล้มเลิกการอ้างสิทธิมีอำนาจปกครองหุบเขากะบอในฐานะส่วนหนึ่งของดินแดนรัฐมณีปุระได้[2] และนับตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1820 เป็นต้นมา เขาได้อำนวยการแปลข่าวจากหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้าจักกายแมงเพื่อทรงทราบ และเพื่อให้ราชสำนักทราบความเป็นไปของทางฝ่ายบริเตน[12]

นักโทษ

ในปี ค.ศ. 1836 เจ้าสารวดี ผู้ซึ่งเคยเป็นแม่ทัพในสงครามอังกฤษ–พม่าครั้งที่หนึ่ง ได้ก่อกบฏต่อพระเจ้าจักกายแมงพระบรมเชษฐาธิราช อู้ซะได้ถูกเจ้าสารวดีจับตัวและส่งไปจำคุก เนื่องจากเขามีฐานะเป็นราชเลขานุการในพระองค์ของพระเจ้าจักกายแมง เมื่อเจ้าสารวดีปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ (ซึ่งคนไทยออกพระนามว่า "พระเจ้าแสรกแมง") ในปี ค.ศ. 1837 พระองค์ได้สั่งถอดยศอู้ซะ ลงโทษจำคุกและใช้แรงงานโยธาอีกเป็นเวลา 2 ปี เขาพ้นโทษในปี ค.ศ. 1839 เนื่องจากได้ประพันธ์เพลงสำหรับบทละครหุ่นชักของหลวง และเพราะเขาเป็นคนโปรดของเจ้าหญิงสุปะยาจี พระราชธิดาของพระเจ้าแสรกแมงมาอย่างยาวนาน เวลานั้นอู้ซะอายุได้ 73 ปีแล้ว เขาไม่ได้มีตำแหน่งใดๆ ในทางราชการอีก แต่เขายังคงประพันธ์เพลงถวายต่อทั้งพระเจ้าแสรกแมงและพระเจ้าพุกามแมงมาตลอด

อู้ซะถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1853 ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนวากอง (ตรงกับเดือนสาวนะในภาษาบาลี หรือเดือน 9 ตามปฏิทินจันทรคติไทย) มรันมาศักราช/จุลศักราช 1215 (พ.ศ. 2396) ขณะมีอายุได้ 86 ปี ซึ่งเป็นเวลาไม่นานนักหลังจากพระเจ้ามินดงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ[2]